นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

จังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการผู้แทนกระทรวง และ องค์กรร่วมวางพวงมาลารำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ท่ามกลางมาตรการป้องกันโควิด-19

วันที่ ( 11 ก.ค.64 ) ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ได้จัดให้มีพิธี วันสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช โดยนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนกระทรวง และ องค์กรในจังหวัดจันทบุรีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นการจัดงานพิธี แบบเว้นระยะห่างทางสังคม Social distancing เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 น้อมรำลึก สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ทั้งนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2231 เป็นวันเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 333 โดยที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่บ้านเมือง ประเทศชาติ อย่างกว้างใหญ่ไพศาล สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองพระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา กับพระราชมารดา ผู้ทรงเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์เดือนยี่ปีวอกพุทธศักราช 2175 ซึ่งในวันประสูติ นั้น พระประยูรญาติเหลือบเห็นเป็น 4 กร สมเด็จพระเจ้าประสาททอง ตรัสแจ้งความเป็นมหัศจรรย์ จึงพระราชทานนามว่า พระนารายณ์มหาราชกุมาร

เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาวิชาการจนแตกฉานมีความเชี่ยวชาญในทุกด้าน ทั้งศิลปะวิชาไตรเภท ยุทธศาสตร์ และการปกครองครั้งเมื่อพระชนมายุได้ 25 พรรษา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงมีพระราชดำริให้สถาปนาเมืองเก่า คือ เมืองลวธานี หรือลพบุรี ในปัจจุบัน เป็นราชธานีที่สอง พระราชกรณียกิจที่สำคัญมีมากมายนานัปการ ทั้งในด้านการที่ทรงเป็นกษัตริย์นักรบผู้กล้าหาญ ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในบูรพาประเทศที่เป็นมิตรและสนิทสนมกับชาวยุโรป ด้วยพระปรีชาญาณ ได้ทรงตัดสินพระทัย เลือกเจริญสัมพันธ์ไมตรีอย่างแน่นแฟ้น กับประเทศฝรั่งเศสเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับประเทศฮอลันดา ด้วยพระวิจารณญาณอันสูงส่ง จึงได้ดำเนินการทางการทูต ด้วยความละเอียดสุขุมรอบคอบ ทรงจัดให้มีการแลกเปลี่ยนทูต นับว่าทรงบรรลุจุดสูงสุดของการทูตไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผลแห่งการกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆในยุโรป เป็นผลให้เกิดการถ่ายเท อารายธรรม ยังความเจริญในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์การค้า และสถาปัตยกรรมแก่สยามประเทศ

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระปรีชา ในด้านศิลปะวรรณคดีเป็นอย่างยิ่งได้ทรงราชนิพนธ์วรรคดีไทยไว้หลาย เรื่อง อาทิพระราชนิพนธ์โครงเรื่องทศรถสอนพระราม พาลีสอนน้อง ราชสวัสดิ์ และสมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นต้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 32 ปี จึงทรงพระประชวร และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2231 สิริพระชนมายุได้ 56 พรรษา

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าวจ.จันทบุรี
นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

 

Exit mobile version