นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

16 องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเมืองชลบุรี (อปท.ชลบุรี) ลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการขยะมูลฝอย กลุ่มพื้นที่ 2 จังหวัดชลบุรี

ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณภายใต้แผนสิ่งแวดล้อมในอีอีซี 2561–2564 มูลค่ารวม 8,156 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เพื่อขยายผลต้นแบบสู่โครงการสำคัญ อาทิ โครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยคลัสเตอร์ 2 อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชนแบบ PPP วงเงิน 3,000 ล้านบาท โครงการศูนย์จัดการขยะมูลฝอยเมืองพัทยา ร่วมลงทุนกับเอกชนแบบ PPP วงเงิน 3,000 ล้านบาท และโครงการศูนย์จัดการขยะมูลฝอยเกาะล้าน จ.ชลบุรี เมืองพัทยา และเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ วงเงิน 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดชลบุรี ได้แบ่งกลุ่มคลัสเตอร์ ตามศักยภาพการขนส่งขยะมูลฝอย และจัดตั้งโรงไฟฟ้าภายในกลุ่มคลัสเตอร์ แบ่งได้เป็น 4 คลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์ที่ 1 ชลบุรีตอนบน ประกอบด้วย อ.เมือง อ.พนัสนิคม อ.พานทองกิ่ง อ.เกาะจันทร์ อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง และ อ.หนองใหญ่, คลัสเตอร์ที่ 2 ชลบุรีตอนกลาง ประกอบด้วย อ.ศรีราชา และ อ.เกาะสีชัง, คลัสเตอร์ที่ 3 เกาะสีชังและเกาะท่องเที่ยวสำคัญ จัดตั้งศูนย์ขนถ่ายบีบอัดและขนส่งขยะมูลฝอยมากำจัดที่คลัสเตอร์ 2 และคลัสเตอร์ที่ 4 ชลบุรีตอนล่าง ประกอบด้วย อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ นั้น
ในวันที่ 10 มิ.ย.64 ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมืองพัทยา ได้เป็นเจ้าภาพจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการขยะมูลฝอย กลุ่มพื้นที่ 2 จังหวัดชลบุรี โดยมี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา และนายอภิสิทธิ์ วรรณตุง ท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี ร่วมลงนาม MOU ดังกล่าวร่วมกับตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอบางละมุงและอำเภอสัตหีบรวม 16 แห่ง ประกอบด้วย อำเภอบางละมุง 8 แห่ง ประกอบด้วย เมืองพัทยา, เทศบาลเมืองหนองปรือ, เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย, เทศบาลตำบลบางละมุง, เทศบาลตำบลโป่ง, เทศบาลตำบลหนองปลาไหล, เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ และองค์การบริหารส่วนตำบลขาไม้แก้ว อำเภอสัตหีบ จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลเมืองสัตหีบ, เทศบาลตำบลบางเสร่,เทศบาลตำบลนาจอมเพียน, เทศบาลตำบลเขตรอุดมศักดิ์, เทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว, เทศบาลตำบลเขาชีจรรย์, องค์การบริหารส่วนตำบลพลูตาหลวง และองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การดำเนินการวางแผนจัดการขยะมูลฝอยในจังหวัดชลบุรีเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาก็ได้วางแผนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งต้องมีการบริการจัดให้เหมาะสมและสามารถจัดสรรได้ และหากท้องถิ่นใดยังมีศักยภาพในดารจัดการขยะก็ยังสามารถทำได้ แต่หากเกินกำลังและไม่สามารถจัดการได้ก็มาเข้าร่วมคลัสเตอร์ตามแนวทางที่จัฃหวัดชลบุรีวางไว้ เรื่องปัญหาขยะในจังหวัดชลบุรีมีประมาณเกือบวันละ 3,000 ตัน ที่ผ่านมาใช้วิธีการฝังกลบ และฝากจังหวัดข้างเคียง

ทั้งนี้ จังหวัดชลบุรีได้พยายามหาแนวทางจัดการเรื่องขยะมูลฝอยว่าจะทำอย่างไรจึงเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ทางกระทรวงมหาดไทยก็พยายามแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน แต่หลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความชัดเจนต่างๆ เลยดูเงียบลง เชื่อว่าในสิ้นปีนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น และในต้นปีหน้าคาดว่าความคึกคักของจังหวัดชลบุรีน่าจะกลับมาอีกครั้ง
ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวด้วยว่าการจัดการขยะมูลฝอยแบบรวมกลุ่มพื้นที่หรือคลัสเตอร์จังหวัดชลบุรี กลุ่มที่ 2 เมืองพัทยาไดเเป็นเจ้าภาพและแกนนำในการดำเนินการ โดยเชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมทั้งตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอศรีราชา มาเข้าร่วมสังเกตการณ์ เพื่อวางแผนจัดการเรื่องดังกล่าวภายในท้องถิ่นของตนเองต่อไปในอนาคต และเมืองพัทยายังถือเป็นหน่วยงานหลักในความรับผิดชอบเป็นศูนย์รวบรวมและกำจัดมูลฝอยรวมโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

อย่างไรก็ตาม แนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจ EEC ยังได้เน้นมนเรื่องการพัฒนาศูนย์กลางการกำจัดขยะมูลฝอย โดยเป็นการรวมศูนย์และการบูรณาการการกำจัดขยะของจังหวัดชลบุรีไว้ในบริเวณพื้นที่ชลบุรีตอนกลาง ด้วยการตั้งศูนย์คัดแยกผลิต RDF หรือการนำขยะมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกแล้วมาผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมีเป็นเชื้อเพลิงขยะรวมทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่รองรับขยะมูลฝอยได้ 2,500 ตันต่อวันต่อไปในอนาคตด้วย

ภาพ/ข่าว นิราช/นันฐพล/พิชญ์ฐญา ทิพย์ศรี ผู้สื่อข่าว จ.ชลบุรี
นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

Exit mobile version