นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

นครราชสีมา – ตำรวจภาค 3 ผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับการจราจรสงกรานต์ 2564

นครราชสีมา – ตำรวจภาค 3 ผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับการจราจรสงกรานต์ 2564 ประชุมแบบบูรณาการเพื่อประสานงานและหารือแนวทางการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุจราจรในการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564

วันที่ 2 เม.ย. 64 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมตึกตำรวจอำนวยการ ภาค3 อ.เมืองนครราชสีมา พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผบช.ภ.3 เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ฐากูร นัทธีศรี รอง ผบช.ภ.3 พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.ภ.3 พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผบก.อก.ภ.3 พล.ต.ต.พรชัย นลวชัย ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา รอง ผบก.อก.ภ.3 รอง ผบก.ภ.จ. ในสังกัด ภ.3 (ที่รับผิดชอบงานจราจร), ผู้แทน ผบก.ทล. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมการประชุมแบบบูรณาการเพื่อประสานงานและหารือแนวทางการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุจราจรในการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 โดยมีหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผอ.แขวงการทางที่ 1, 2 และ 3 จ.นครราชสีมา ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา ผอ.สำนักงานขนส่ง จ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่กู้ภัยจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมประชุม

ในที่ประชุมได้สรุปแผนอำนวยความสะดวกจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของตำรวจภูธรภาค3 มีดังนี้

มาตรการบริหารจัดการ ภ.3 และ ภ.จ.ในสังกัด ภ.3 จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564

เปิดศูนย์ฯ ระหว่างวันที่ 9 – 17 เม.ย.2564 มาตรการบังคับใช้กฎหมาย ช่วงเตรียมความพร้อมและการรณรงค์ ระหว่างวันที่ 15 – 31 มี.ค.64 รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อต่างๆ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น อำเภอ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ขนส่งจังหวัด กรมทางหลวง ให้ประชาชนตระหนัก ในแนวทาง “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ช่วงกวดขันวินัยจราจร (บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด) ระหว่างวันที่ 1 – 23 เม.ย.64 บังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก ได้แก่ 1.ความเร็วเกินกว่า ที่กฎหมายกำหนด 2. ขับรถย้อนศร 3.ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร 4.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5.ไม่มีใบขับขี่ 6.แซงในที่คับขัน 7.เมาสุรา 8.ไม่สวมหมวกนิรภัย 9.ขับขี่รถจักรยายนต์ ไม่ปลอดภัย 10.ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ โดยเน้นข้อหาที่เป็นปัจจัยให้เกิดอุบัติเหตุและเกิดความสูญเสีย ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ขับรถ จยย.โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต และ ขับรถในขณะเมาสุราตรวจวัดแอลกอฮอล์และการสอบสวนขยายผล – กรณีคดีอุบัติเหตุจราจร ที่มีคู่กรณี หรือมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย ผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องสอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายสุรา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ / กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี สอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับบุคคลที่ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอม ให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรฯ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 10 – 16 เม.ย.64 (7 วันอันตราย) ตั้งจุดตรวจ และจัดชุดเคลื่อนที่เร็วในการกวดขันวินัยจราจร เน้นการตรวจวัดแอลกอฮอล์รถกระบะที่นั่งตอนท้ายกระบะ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูง รวมทั้งสุ่มตรวจสถานีบริการน้ำมันเชื่อเพลิง เพื่อป้องกันการลักลอบจำหน่ายสุราโดยผิดกฎหมาย และให้มีการตรวจสอบรถโดยสารประจำทาง รถตู้โดยสาร โดยให้เรียกตรวจ ผู้ขับขี่มาตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องให้มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเป็น 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ รวมถึงใช้มาตรการด่านชุมชน โดยประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่หมู่บ้านและตำบล โดยเข้มงวดกวดขันเด็กและเยาวชนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ถ้าตรวจพบให้ยึดรถไว้ เพื่อให้ผู้ปกครองมารับรถคืนภายหลัง

ภาพ-ข่าว / อภิรักษ์ ศรีอัศวิน ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.นครราชสีมา

Exit mobile version