นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

กองทัพภาคที่ 3 แถลงสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ

กองทัพภาคที่ 3 แถลงสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ

วันที่ 19 มีนาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 125 ณ พิพิธภัณฑ์ทหารกลางแจ้ง กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

ตามที่ประเทศไทย ได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและคุณภาพอากาศ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 มาจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์จุดความร้อนและค่าคุณภาพอากาศทางภาคเหนือ เริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีปริมาณสูงขึ้น อีกทั้งประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ประกอบกับสภาพอากาศปิด ลมสงบนิ่ง จึงส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโดยรวมของพื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมาก

กองทัพภาคที่ 3 และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาและร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในการลดปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนืออย่างจริงจัง โดยได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ดังนี้.-
1) กำหนดการปิดป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 61 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 และขอให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการควบคุมไฟป่า และการเผาในพื้นที่โล่งอย่างเข้มงวด
2) ประกาศให้ภาคเหนือตอนบน เป็นพื้นที่ “ห้ามเผาโดยเด็ดขาด” หากมีความจำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่อำเภอ หรือจังหวัดก่อน เพื่อให้มีการเฝ้าระวังและควบคุมเพลิงไม่ให้ลามไปยังพื้นที่ป่า และดับไฟให้เรียบร้อยเมื่อเสร็จภารกิจ
3) เพิ่มการลาดตระเวนพื้นที่เฝ้าระวังและดับไฟ การใช้มาตรการเข้มข้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, ลำปาง และตาก ที่มีค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานมากว่า 2 สัปดาห์ พร้อมทั้งดำเนินประสานกับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ อีกทั้งเสริมชุดสนับสนุนในการปฏิบัติภารกิจบริเวณพื้นที่ชายแดน จาก กรมทหารพรานที่ 32, กรมทหารพรานที่ 33 และกรมทหารพรานที่ 35
4) ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการดับไฟป่าโดยทันที เมื่อเกิดจุดความร้อน ประกอบด้วย ชุดเหยี่ยวไฟ จากสำนักจัดการป่าไม้ รับผิดชอบพื้นที่ป่าสงวน, ชุดเสือไฟ จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ รับผิดชอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์, ชุดรณรงค์สร้างการรับรู้ ของกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 15 ชุดปฏิบัติการ, ประชาชนจิตอาสา ประกอบด้วย จิตอาสาภัยพิบัติท้องถิ่น ตำบลละ 50 นาย, อาสาสมัครป้องกันไฟป่า, ราษฎร์สู้ไฟป่า รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า ซึ่งทุกชุดปฏิบัติการได้ผ่านการอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาเป็นอย่างดี
5) ได้รับการสนับสนุนอากาศยานที่ใช้ในการปฎิบัติภารกิจในพื้นที่ภูเขาสูงชัน เข้าถึงยากลำบาก ได้แก่
1. เครื่องบินใช้งานทั่วไป แบบ U-17 จาก กองทัพบก บ.ท.17 (U-17)
2. เฮลิคอปเตอร์ AS-350 B2 จาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
3. เฮลิคอปเตอร์ AS-350 B2 จาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. เฮลิคอปเตอร์ KA – 32 จาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งได้ปฏิบัติการ
ทิ้งน้ำดับไฟป่าไปแล้วกว่า 122 เที่ยว ปริมาณน้ำ 256,000 ลิตร
5. อากาศยานไร้คนขับ UAV จาก กองทัพอากาศ
6. โดรน จำนวน 70 ตัว จาก ภาคประชาชนจิตอาสา
7. โดรน จำนวน 4 ตัว จาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
6) สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน กรมควบคุมมลพิษได้ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้แจ้งเตือนไปยังประเทศดังกล่าว เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนและถาวรได้นั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เกิดจิตสำนึกมีความรักและหวงแหนป่าไม้ในบ้านเกิด รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนต้องมีการวางแผนในให้เป็นระบบแบบแผนตามลำดับขั้นตอนได้อย่างมั่นคงและทันท่วงที.

ทรงวุฒิ ทับทอง

Exit mobile version