นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

สุราษฎร์ธานี // “กรมชลประทาน” จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง การบรรเทาอุทกภัย และบริหารจัดการน้ำพื้นที่ อ.ไชยา

สุราษฎร์ธานี // “กรมชลประทาน” จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง การบรรเทาอุทกภัย และบริหารจัดการน้ำพื้นที่ อ.ไชยา .

วันที่ 18 ก.พ. 2564 ที่ศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอไชยา จ.สุราษฎร์ธานี กรมชลประทานได้มีการจัดประชุมย่อยครั้งที่ 1 โครงการศึกษาการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่อำเภอไชยา เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีเพราะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งที่มีแม่น้ำไหลผ่านมาจากเทือกเขาภูเก็ต โดยในช่วงหน้าฝน ปริมาณน้ำฝนจะตกมากทำให้น้ำป่าไหลหลากลงมาในลำคลองแล้วไหลผ่านไปในพื้นที่เทศบาลไชยา ทุกครั้งเพราะเป็นทางน้ำไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้เวลาหน้าแล้งก็จะไม่มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมเนื่องจากลำคลองตื้นเขินไม่สามารถกักน้ำเอาไว้ได้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นประจำเช่นกัน ทางกรมชลประทานจึงได้วางแผนการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ตอนบนจำนวน 3 อ่าง โดยการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่ามีการคัดค้านจากประชาชนเจ้าของที่ทำกินในพื้นที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการศึกษาโครงการฯ การประชุมกลุ่มย่อยในครั้งนี้จะมีการพิจารณาทบทวนแผนดังกล่าว โดยจะสอบถามความต้องการของคนในพื้นที่ โดยทางกรมชลประทานได้มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วมอำเภอไชยา 3 ทางเลือกดังนี้

1. ผันน้ำเลี่ยงเมืองไชยา โดยองค์ประกอบประตูน้ำร่วมการปรับปรุงประสิทธิภาพคลองท่าตีน

2.ระบบผันน้ำเลี่ยงเมืองไชยาโดยใช้เขตคลองชลประทานของโครงการฝายคลองไชยา

3. แผนหลักการป้องกันน้ำท่วมด้วยระบบพื้นที่ปิดล้อมป้องกันน้ำท่วมเทศบาลไชยา โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองพ.ศ. 2561

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการคือ
• เพื่อบริหารจัดการน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่
• เพื่อบรรเทาอุทกภัยจากปริมาณน้ำท่วม
• เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร และอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง

สำหรับอำเภอไชยา มีพื้นที่ทั้งเป็นภูเขา ที่ราบลุ่ม และพื้นที่ติดทะเล แต่มีลำคลองธรรมชาติที่ตื้นเขินทำให้การระบายน้ำจากภูเขาลงทะเลในเวลาฝนตกเป็นไปด้วยความยากลำบาก และมีปัญหาทุกปี เวลาฝนตกมากลำคลองไม่สามารถระบายน้ำได้ทำให้น้ำท่วมขัง เวลาหน้าแล้งเกิดภาวะน้ำแห้งขอดเนื่องจากไม่สามารถเก็บน้ำเอาไว้ได้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนตลอดมา ซึ่งโครงการของชลประทานจะต้องมีการจัดประชุมเพื่อสอบถามความเห็น และได้รับความยินยอมจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ก่อนถึงจะลงมือทำโครงการได้ปัจจุบันอยู่ในขั้นของการศึกษา .

ข่าว : กาญจนา บุญชุม

Exit mobile version