นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

ผู้ว่าฯ พร้อมด้วย นายแพทย์ สสจ.นราธิวาส ร่วมแถลงข่าวภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ยืนยันพบมีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่เป็นรายที่ 2

นราธิวาส/ภาพ/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ

ผู้ว่าฯ พร้อมด้วย นายแพทย์ สสจ.นราธิวาส ร่วมแถลงข่าวภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ยืนยันพบมีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่เป็นรายที่ 2

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 มกราคม 2564 ที่ห้องโถงชั้นล่าง หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 จังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 2 ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC)

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาสได้ดำเนินการในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด- 19 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด จนทำให้จังหวัดนราธิวาสไม่มีผู้ป่วยใหม่มาแล้วเป็นระยะเวลา 208 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 มีผู้ป่วยสะสม 43 ราย

สำหรับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่จังหวัดนราธิวาส ครั้งนี้เป็นรายที่ 2 โดยเมื่อวันที่ 5 มกราม 2564 จังหวัดนราธิวาสพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย เป็นผู้ป่วยอยู่ในศูนย์กักกันตัว (LQ) ตลาดกลางการเกษตรเพื่อการส่งออกจังหวัดภาคใต้ชายแดน อำเภอยื่งอ ซึ่งเดินทางมาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยผ่านช่องทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2563 เข้ารับการกักตัวที่ศูนย์กักกันตัว และได้รับการตรวจหาเชื้อจนมีผลยืนยันในวันที่ 5 มกราคม 2564 นับเป็นผู้ป่วยสะสมรายที่ 45 ขณะนี้กำลังพักรักษาตัวในโรงพยาบาลยื่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และเพื่อเป็นการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดนราธิวาส โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส จึงได้ออกคำสั่งจังหวัดนราธิวาส 3 ฉบับ ลงวันที่ 4 มกราคม 2564 ฉบับที่ 1 คำสั่งที่ 11/2564 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019
ฉบับที่ 2 คำสั่งที่ 12/2564 เรื่อง มาตรการควบคุมตลาดและถนนคนเดิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 3 คำสั่งที่ 13/2564 เรื่อง จัดตั้งด่านตรวจจุดสกัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019โดยมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้ 1.หน่วยงานรัฐและเอกชน เลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวคนเป็นจำนวนมาก 2.วัด มัสยิด หรือศสนสถานอื่นๆ หลีกเสี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวคนเป็นจำนวนมาก 3.แรงงานต่างด้าว ห้ามเคลื่อนย้ายเข้า-ออก จังหวัดนราธิวาส 4.การขนส่งสาธารณะ ต้องมีจุดบริการแอลกอฮอล์เจล พนักงานและผู้โดยสารให้ใส่หน้ากากตลอดเวลา 5.สถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ให้มีจุดล้างมือ เว้นระยะห่าง ผู้ให้และผู้ใช้บริการสวมหน้ากากตลอดเวลา 6.สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา ผู้ให้และรับบริการสวมหน้กากตลอดเวลา 7.สถานบริการและสถานประกอบการ ได้แก่ ร้านเกมส์ และสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัดชุมชน ถนนคนเดินให้มีมาตรการควบคุมป้องกันและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 8.สถานที่ท่องเที่ยวให้ผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค 9.ธนาคาร สถาบันทางการเงิน ให้ผู้รับผิดชอบ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด 10.สนามไก่ชนสนามแข่งนก หรือสนามแข่งขันอื่นๆ ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้มาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดจะสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะ
ภาครัฐ ภาคเอกชน และที่สำคัญอย่างยิ่งภาคประชาชน ชาวจังหวัดนราธิวาส ขอให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่จังหวัดกำหนดอย่างเคร่งครัดแล้วเราจะผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19ไปด้วยกัน

ด้านนพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 จังหวัดนราธิวาส พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 1 ราย นับเป็นผู้ป่วยสะสมรายที่ 45 เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่รายที่ 2 ของจังหวัดนราธิวาส ขณะนี้กำลังพักรักษาตัวในโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
ผู้ป่วยใหม่รายนี้ เป็นเพศชาย อายุ 48 ปี ไม่มีไข้ มีอาการไอ จากการสอบสวนพบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ณ โรงเรียนสอนศาสนา เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน และ วันที่ 27 ธันวาคม 2563 เวลาประมาณ 20.00 น. ได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ (โดยสารเรือข้ามแม่น้ำ) ที่อำเภอตากใบ มีน้องชายและน้องสะใภ้เดินทางไปรับ ซึ่งได้ประสานผู้ใหญ่บ้านและสาธารณสุขอำเภอตากใบ เพื่อไปเข้าพักยังจุดพักคอยที่สนามกีฬามหาราช อำเภอสุไหงโก-ลก ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2563 เดินทางจากสนามกีฬามหาราช ไปยังจุดตรวจคัดกรอง ณ ด่านสุไหงโก-ลก โดยสารรถกระบะตอนเดียว มีผู้โดยสารร่วมด้วยจำนวน 5 คน หลังจากนั้นได้ส่งตัวไปยัง LQ ตลาดกลางการเกษตรเพื่อการส่งออก อำเภอยี่งอ มีผู้กักกันที่ตลาดกลางการเกษตรฯ อำเภอยี่งอ จำนวนทั้งหมด 21 คน ซึ่งในวันที่ 2 มกราคม 2564 ได้เก็บตัวอย่างตรวจครั้งที่ 1 ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ทั้งหมด 21 คน พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1 ราย และเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ได้รับผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดสงขลา ว่าพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งน่าจะเป็นการติดเชื้อจากประเทศมาเลเซีย

จากกรณีดังกล่าว การเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เช่น รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย จะด้วยการผ่านด่านที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือผ่านช่องทางธรรมชาติ ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจนำเชื้อเข้าประเทศโดยไม่รู้ตัว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนชาวนราธิวาส ช่วยกันสอดส่อง เฝ้าระวัง ผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ผ่านการคัดกรอง หรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงภายในประเทศ มาจากจังหวัดที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้รายงานตัวกับบุคลากรสาธารณสุขในอำเภอที่ท่านอาศัยอยู่ และปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
สำหรับประชาชนทั่วไป ขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเคร่ง ด้วยการ D Distancing : เว้นระยะห่างกัน 1-2 เมตร M Mask wearing : สวมหน้ากากทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านไปในที่สาธารณะ H Hand washing : ล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ T Testing : ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนเข้า-ออกทุกสถานที่ หรือตรวจหาเชื้อ (เฉพาะผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน)T Thai cha na : ลงชื่อสแกนไทยชนะทุกสถานที่ที่ไป หากมีการระบาดในสถานที่นั้นๆ จะได้ตามตัวได้

ทั้งนี้การควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ในจังหวัดนราธิวาส จะไม่ขยายวงกว้าง ถ้าหากชาวนราธิวาสทุกคนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือ และตามมาตรการที่จังหวัดนราธิวาสกำหนดอย่างจริงจังและเคร่งครัด คาดว่าแนวโน้มการป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ของจังหวัดนราธิวาส จะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และไม่สูงมากตามที่คาดการณ์ไว้ และโรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยในได้ตามมาตรฐานและเพียงพอ แต่ถ้าหากประชาชนยังไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า มีการไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก โดยไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่ล้างมือให้สะอาด เป็นต้น คาดว่าในอนาคตจะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันอย่างเคร่งจะเป็นตัวช่วยอย่างดีที่จะทำให้คนนราธิวาสปลอดโรค จังหวัดนราธิวาสปลอดภัยจาก COVID-19

Exit mobile version