นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

นายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านซือเลาะ และกลุ่ม OTOP อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

นราธิวาส/ภาพ/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ

นายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านซือเลาะ และกลุ่ม OTOP อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

วันที่ 9 ธันวาคม 2563 นายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลและคณะ เข้าตรวจเยี่ยมหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีและกลุ่ม OTOP ในพื้นที่อำเภอรือเสาะ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการต่อไป
โดยเริ่มต้นจากการตรวจเยี่ยมหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านซือเลาะ โดยเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2561 โดยได้รับงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว โดยมีกิจกรรม คือ กางเต็นท์นอนดูดาว ตกปลา ขับรถ ATV เยี่ยมชมเหมืองเก่า และสลักไม้มะขามของที่ระลึก

จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมกลุ่มซือเลาะแคปวัว สถานที่ตั้งหมู่ที่ 4 ตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส กลุ่มซือเลาะแคปวัว จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเมื่อปี 2561 โดยมีนายอาหามะ มามะแตฮะ ประธานกลุ่มและมีสมาชิก จำนวน 6 คน โดยกลุ่มได้มีความคิดริเริ่มจากากรนำเอาหนังวัวที่ผ่านการเชือดแล้วแต่ไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น จึงได้ลองแปรรูป โดยได้ศึกษาทางสื่ออินเตอร์เน็ตและได้ลองผิดลองถูก จนพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ แคปวัวบ้านซือเลาะ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ในพื้นที่ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนได้มีการจดทะเบียน OTOP กรมการพัฒนาชุมชน ในปี 2561 โดยราคาจำหน่ายปริมาณ 50 กรัม ราคา 35 บาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกเดือนละ 2,000 บาท/เดือน กลุ่มซือเลาะแคปวัวมีส่วนช่วยให้ชุมชนเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ เสริมสร้างรายได้ให้คนในชุมชน โดยสมาชิกในกลุ่มเป็นคนในพื้นที่ ที่ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์หลังจากทำอาชีพหลัก ถือเป็นการสร้างรายได้เสริมนำมาจุนเจือครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเป็นอย่างดี

จากนั้นได้เข้าเยี่ยมกลุ่มสุเป๊ะบ้านหวายจัดตั้งกลุ่มเมื่อ พ.ศ. 2550 โดยนายอุสมาน บากา เนื่องจาก บ้านสุเป๊ะ มีหวายและเถาวัลย์ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากตามสวนยางพาราและที่รกร้าง นายอุสมาน บากา ประธานกลุ่ม ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเกิดรายได้ จึงได้รวบรวมเยาวชนมารวมกลุ่มกันหลังจากกรีดยางซึ่งเป็นอาชีพหลักในตอนเช้าแล้ว ทำผลิตภัณฑ์จากหวายและเถาวัลย์ โดยเริ่มจาก ทำผลิตภัณฑ์ที่ง่ายไม่มีความละเอียดมากนัก เช่น กระเช้าใส่ของขวัญ แจกันปักดอกไม้ จากนั้นมีการคิดค้น พัฒนารูปแบบผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 20 คน ได้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3 ดาว ได้รับรางวัล “หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร” รางวัลสร้างเสริมคนดีมีคุณธรรม ประจำปี พ.ศ. 2560 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ขันโตรก ตะกร้า กระเช้าใส่ของขวัญ ถาดเอนกประสงค์ กรอบรูป เป็นต้น การจัดจำหน่าย ได้จัดจำหน่าย ณ ที่ทำการกลุ่ม นอกหมู่บ้านจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าตามงานต่างๆ ขายส่งร้านค้าในจังหวัดยะลา ช่องทางเฟสบุ๊ค สมาชิกมีรายได้ เดือนละ 2,000 บาท ซึ่งมาจากนำผลิตภัณฑ์หวายมาขายให้กลุ่มและจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มีสวัสดิการให้สมาชิกกลุ่ม คือ กำไรจากการขายผลิตภัณฑ์ชิ้นละ 5 บาทหักสมทบกองทุนสวัสดิการสมาชิก ปัจจุบันมี จำนวน 10,000 บาท และมีการร่วมกันปลูกหวายทดแทนเพื่อให้มีวัสดุใช้อย่างต่อเนื่อง

ต่อมาทางคณะได้เข้าเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแฮนด์ อิน แฮนด์ โครงการอุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำร่องพื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจเป็นการกระตุ้นการสร้างงานสร้างอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนให้เกิดการสร้างงานที่ยั่งยืน นำสู่การสร้างเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตและสังคมที่ดี ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม และเทศบาลตำบลรือเสาะ เป็นผู้ประสานงาน

แนวทางการดำเนินงานของโครงการ Hand In Hand พื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นการเชื่อมโยงความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมกับปัญหาการว่างงานของประชาชนในพื้นที่เนื่องจากการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มีการชะลอตัวถึงขั้นหยุดนิ่ง โดยภาครัฐจะเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการผลิต มีบทบาทเป็นผู้ลงทุนจัดตั้งสถานประกอบการในลักษณะโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์การผลิตตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานแก่ประชาชนที่ประสงค์จะเข้ามาเป็นพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม มีภาคเอกชนสนับสนุนด้านกลไกทางด้านการตลาด ด้านต้นทุนการผลิตอื่น ๆ และการบริหารจัดการในโรงงานให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงต่อเนื่องเพื่อเป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่การดำเนินบริหารจัดการของโครงการฯ ในระยะแรกได้มีรูปแบบคือให้ภาคเอกชนจากกรุงเทพฯ มาบริหารจัดการเพื่อที่จะได้มีแนวทางของการนำการตลาดสู่การผลิตซึ่งมีบริษัทเอกชนมาบริหารจัดการอยู่ ๒ บริษัทและทั้ง ๒ บริษัทได้ขอถอนตัวจากโครงการฯด้วยเหตุผลคือบุคลากรของบริษัทไม่กล้าลงมาบริหารจัดการ การขนส่งวัตถุดิบและสินค้าค่อนข้างไม่สะดวกรวมถึงบริษัททั้ง ๒ ก็ประสบปัญหาวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจด้วย ซึ่งการถอนตัวของบริษัทแต่ละครั้งต่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ กับโครงการฯ มากมาย
ดังนั้นคณะทำงานของโครงการฯ จึงมีแนวความคิดว่าเมื่อโครงการฯเป็นของชุมชน สามารถบริหารโดยชุมชนและเพื่อชุมชน สู่เศรษฐกิจชุมชนขับเคลื่อนโดยชุมชนแล้วก็จะเป็นสิ่งที่ดี จึงได้มีแนวทางของการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน Hand In Hand อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสขึ้น เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการบริหารจัดการโครงการฯ โดยมีภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ให้การสนับสนุน และมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และเทศบาลตำบลรือเสาะร่วมประสานงาน

การดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน Hand In Hand อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ในระยะแรกได้ดำเนินการผลิตชุดนักเรียน ชุดพื้นเมือง ผ้าคลุมผม กระเป๋าผ้าเป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานของกลุ่มฯในขณะนั้น ไม่สามารถที่จะมีการตลาดที่ดีได้จึงทำให้บุคลากรไม่มีงาน มีรายได้น้อยมากและส่งผลให้มีจำนวนของบุคลากรลาออกและลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือประมาณ 10 คน ต่อมานายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ ได้มีโอกาสพบกับคุณอติสิทธิ์ พิลานันท์ ผู้ใหญ่ใจดีที่ได้ทราบข้อมูลของโครงการ Hand In Hand อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส จึงมีความคิดตั้งใจช่วยเหลือโครงการฯ โดยประสานให้ทางกลุ่มฯได้มีผ้าคุณภาพดีจากต่างประเทศ เพื่อให้ทางกลุ่มฯ นำมาดำเนินการผลิตและตัดเย็บ ซึ่งผ้าคุณภาพดีจากต่างประเทศมาถึงทางกลุ่มฯในวันที่ 7เดือนมีนาคม 2562

ดังนั้นทางกลุ่มฯ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยมี นางสาวนูรี เดวาดาแล เป็นประธานกลุ่มฯ และนางสาวปียะนุช เจ๊ะเด๊าะ เป็นผู้จัดการโรงงานฯโดยได้ดำเนินการผลิตตัดเย็บสินค้าเครื่องนุ่งห่ม เน้นการตัดเย็บเสื้อโปโล คอกลม ชุดกีฬา ชุดออกกำลังกายทั่วไปและชุดออกกำลังกายสุภาพสตรีมุสลิมเป็นต้น ด้วยคุณภาพผ้าที่ดีจากต่างประเทศ มีการตัดเย็บดี โดยมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่11 และเทศบาลตำบลรือเสาะเป็นผู้ประสานงานด้านต่าง ๆ รวมถึงวิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้ร่วมจัดฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานให้กับบุคลากรของกลุ่มฯที่สำคัญทางกลุ่มฯจำหน่ายสินค้าในราคาถูก ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีของลูกค้าเป็นอย่างมากส่งผลให้บุคลากรมีรายได้ที่ดีมาก เมื่อมีการตลาดที่ดี ทางกลุ่มฯ ก็ได้มีการรับบุคลากรเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง
โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนHand In Hand อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส มีปัจจัยความสำเร็จ คือ
1.กลุ่มฯดำเนินการจัดการได้ด้วย ตัวเองภายใต้แนวคิดของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน นำสู่แนวทางเศรษฐกิจชุมชนขับเคลื่อนโดยชุมชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่มฯที่ชัดเจน มีการจดทะเบียนกลุ่มฯ และสามารถขยายผลไปสู่การสร้างกลุ่มออมทรัพย์ของกลุ่มฯเพื่อสวัสดิการของบุคลากรภายในกลุ่มฯต่อไป

2.มีความร่วมมือบูรณาการจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภายในพื้นที่และนอกพื้นที่ร่วมสนับสนุน
3.เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันและอนาคตสินค้าของกลุ่มฯ มีการขยายตัวและเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้ลูกค้าหรือบุคคลทั่วไปที่ใช้สินค้าของกลุ่มฯ เกิดความรู้สึกที่ดีและมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อพื้นที่
4.เป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพและศึกษาดูงาน ทั้งจากภายใน และภายนอก สืบเนื่องจากในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง มีสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนรู้หลักสูตรที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มฯ จึงได้ส่งนักศึกษามาฝึกประสบการณ์วิชาชีพเช่น นักศึกษาหลักสูตรการตัดเย็บและการออกแบบแฟชั่น หลักสูตรการบริหารจัดการ หลักสูตรการตลาด หลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นต้น และนอกจากนั้นยังมีสถานศึกษาพานักศึกษามาเรียนรู้ดูงานอย่างต่อเนื่อง
5.เป็นแหล่งท่องเที่ยวของพื้นที่เมื่อบุคคลหรือคณะต่าง ๆ เดินทางมายังพื้นที่ก็จะมาท่องเที่ยวเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มและช่วยสนับสนุนสินค้าของกลุ่มฯอีกด้วย

ดังนั้นโครงการ Hand In Hand อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นการนำอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นมาสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตและสร้างสังคมแห่งความสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างแท้จริง

ต่อมาทางคณะได้เข้าตรวจเยี่ยมกลุ่มกลุ่มกระเป๋าแฟชั่น แบรนด์ SO-NEE-SHA ตั้งอยู่ที่ บ้านสาวอฮูลู หมู่ที่ 2 ตำบลสาวอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีนางอานี วามิง เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกทั้งหมด 10 คน โดยได้มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเป็นฝ่ายๆ เช่น ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายตัด ฝ่ายเย็บ โดยใช้ผ้าที่มีความเป้นอัตลักษณ์ของจังหวัดนราธิวาส ไม่ว่าจะเป็น ผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ และผ้าอื่นๆ ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า และกลุ่มยังมีไอเดียนำไวนิลที่เหมาออกแบบและตัดเย็บเป็นกระเป๋าแฟชั่นได้อย่างปราณีตและสวยงาม ช่วยลดขยะ ลดภาวะโลกร้อน ปัจจุบันกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000-20,000 บาท

โดยมีนายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน นำเยี่ยมชม ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่ อิหม่าม กลุ่มอาชีพและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

Exit mobile version